ระบบการเรียนการสอน


ความเป็นมาของระบบการสอน
1. ความหมายของระบบการเรียนการสอน
คำว่า ระบบ ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดก็ตามจะหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีระเบียบเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายปลายทางที่กำหนดไว้ ดังนั้น ระบบการเรียนการสอน ก็คือ การจัดองค์ประกอบของการเรียนการสอนให้มีความสัมพันธ์กัน เพื่อสะดวกต่อการนำไปสู่จุดหมายปลายทางของการเรียนการสอนที่ได้กำหนดไว้
ระบบ เป็นผลรวมของหน่วยย่อยซึ่งทำงานเป็นอิสระจากกันแต่มีปฏิกิริยาสัมพันธ์กันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เช่น การศึกษาก็เป็นระบบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นหน่วยย่อยลงไป คือ การเรียนการสอน การจัดการ/บริการอาคาร สถานที่และเครื่องอำนวยความสะดวก ชุมชนและผู้เรียน ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์กันในชนิด เป็นหน่วยใหญ่คือระบบการศึกษาขึ้น
หน่วยย่อยเหล่านั้นเมื่อพิจารณาที่ระบบย่อย หรือระบบเดี่ยวซึ่งมีอิสระไม่ขึ้นแก่กัน หากเกิดปัญหาขึ้นในระบบย่อยระบบใดระบบหนึ่งก็สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาให้บรรลุไปได้เฉพาะระบบย่อยนั้นโดยไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับโครงการของระบบย่อยอื่นๆเช่น การปรับปรุงการเรียนการสอนอาจกระทำได้โดยที่ไม่แตะต้องระบบการบริหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตามการจะถือว่าระบบย่อยเหล่านั้นมีอิสระไม่ขึ้นแก่กันอย่างเด็ดขาดก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะระบบย่อยทุกระบบมีปฏิกิริยาสัมพันธ์กันเป็นส่วนรวมมีสายใยเชื่อมโยงกันอย่างเด่นชัดเพียงแต่ว่า แต่ละระบบย่อยมีจุดมุ่งหมายการดำเนินงานสมบรูณ์ในตัวเองส่งเสริมจุดมุ่งหมายและการดำเนินงานของระบบใหญ่ ดังเช่นในด้านการศึกษาแต่ละหน่วยย่อยหรือระบบย่อย (ห้องเรียน โรงเรียน เขตการศึกษา) เมื่อนำมาบูรณาการหรือมารวมกันก็จะเป็นระบบการศึกษาการดำเนินงานการศึกษาจึงเป็นระบบ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องพิจารณาแต่ละหน่วยเพื่อแก้ปัญหาทีละจุดโดยยึดหลักว่า ระบบย่อยทั้งหลายซึ่งประกอบกันเป็นระบบใหญ่นั้นต่างดำเนินการทั้งที่เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และทั้งสัมพันธ์กันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาการศึกษาจึงต้องใช้วิธีการจัดระบบเพื่อให้จะช่วยให้ผู้แก้ปัญหาพิจารณาความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ที่สลับซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น การจัดระบบจะกำหนดกระบวนการเพื่อให้หน่วยย่อย ซึ่งทำงานทั้งเป็นอิสระแก่กันและสัมพันธ์กันสามารถทำงานร่วมกันและดำเนินไปจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
การสอนเชิงระบบ (Systematic Instruction) หรือ ระบบการสอน (Instruction System) เป็นการสอนที่นำเอาแนวคิดเรื่องการจัดระบบ (System Approach) ของการทำงานเข้ามาใช้ปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน

ระบบการเรียนการสอน มีองค์ประกอบที่เป็นตัวป้อน กระบวนการ และผลผลิต การสอน ที่จะให้ได้ผลดีนั้น ผู้เป็นครูมืออาชีพจำเป็นต้องมีความสามารถในการออกแบบ การเรียนการสอน (Designing Instruction) ที่ดีที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพ ในการออกแบบการสอนที่ดี ครูจะต้องสามารถกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ และความคิดรวบยอดที่เหมาะสมกับผู้เรียน และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายได้ รวมทั้งมีการวัดผลประเมินผลที่เหมาะสมตรงตามจุดมุ่งหมายด้วย
สรุปได้ว่า การจัดระบบการเรียนการสอน จะเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของครู การจัดระบบการเรียนการสอนเป็นการพัฒนาการสอนจากศิลป์ให้เป็นศาสตร์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะเป็นการเน้นให้เห็นความสำคัญของวิชาชีพครูให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วไป

3. ความหมายของการสอนเชิงระบบ
ในการที่จะทำความเข้าใจเรื่องของ “ระบบการเรียนการสอน” ประการแรกจำเป็นต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ระบบ” ให้ตรงกันเสียก่อน
คำว่า “ระบบ” มีให้คำจำกัดความไว้ต่าง ๆ กัน ดังต่อไปนี้
สงัด อุทรานันท์ (2526, หน้า 5) กล่าวว่า ระบบ หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันและต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้
ชัยยง พรหมวงศ์ (2528, หน้า 67) กล่าวว่า ระบบ เป็นผลรวมของหน่วยย่อย ซึ่งทำงานเป็นอิสระจากกัน แต่มีปฏิกิริยาสัมพันธ์กัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540, หน้า 22) กล่าวว่า ระบบ คือ ผลรวมขององค์ประกอบย่อยที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระเบียบและต่างหน้าที่ของตน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ทิศนา แขมมณี (2545, หน้า 196) กล่าวว่า ระบบจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญอย่างน้อย 3 สิ่งด้วยกัน คือ (1) องค์ประกอบสำคัญ ๆ ของระบบ (2) ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนั้น (3) เป้าหมายหรือจุดหมายของระบบนั้น
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540, หน้า 22) กล่าวว่า การสอนเชิงระบบ หมายถึง การจัดองค์ประกอบของการสอนไว้อย่างมีลำดับขั้นตอน และมีความสัมพันธ์กันเพื่อสะดวกต่อการนำไปสู่จุดหมายปลายทางของการสอนที่ได้กำหนดไว้
เซียเลส (Sear, 1967) กล่าวว่า ระบบ เป็นการจัดสิ่งต่างๆ ให้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างเป็นระเบียบเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
บานาธี (Banathy, 1968) กล่าวว่า ระบบ หมายถึง การรวบรวมของส่วนประกอบ ซึ่งมีความสัมพันธ์และส่งเสริมต่อกันเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
กายเน่ และบริกส์ (Gagne & Briggs, 1974, p. 19) กล่าวว่า ระบบ หมายถึง วิธีการใดๆ ก็ได้ที่ได้รับการจัดไว้อย่างเป็นระบบเพื่อเป็นหลักให้สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายในวงกว้าง เช่น เพื่อสังคมหรือเป้าหมายย่อย เช่น เพื่อคนส่วนหนึ่งของสังคม หรือเป้าหมายในวงแคบ เช่น เพื่อครูคนเดียวก็ได้
สรุปได้ว่า การจัดระบบการเรียนการสอน จะเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของครู การจัดระบบการเรียนการสอนเป็นการพัฒนาการสอนจากศิลป์ให้เป็นศาสตร์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะเป็นการให้เห็นความสำคัญของวิชาชีพครูให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วไป

3. ความสำคัญของการสอนเชิงระบบ
ทิศนา แขมมณี (2545, หน้า 195) กล่าวว่า ระบบ ในการเรียนหรือการทำงานจะรู้จักวางแผนจัดระเบียบในการทำสิ่งต่างๆ ให้มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่จะช่วยให้ตนสามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่หวังหรือกำหนดไว้ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า “ความเป็นระบบ” เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การทำงานใดๆ ประสบผลสำเร็จ มีประสิทธิภาพตามที่ตั้งไว้ ซึ่งสอดคล้องกับสงัด อุทรานันท์ (2526, หน้า 7) ที่กล่าวไว้ว่า การทำงานอย่างมีระบบเป็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะ (1) การทำงานอย่างเป็นระบบนั้นสิ่งต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของระบบจะอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบไม่มีความสับสนและไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น (2) การทำงานอย่างเป็นระบบจะเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่าย (3) งานทุกอย่างจะสำเร็จตามเป้าหมายและได้ผลอย่างเต็มที่
ดังนั้น การนำวิธีการของระบบการทำงานเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ย่อมทำให้การเรียนการสอนบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540, หน้า 23) กล่าวว่า การสอนเชิงระบบ มีความสำคัญช่วยให้เป็นการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ด้วยเหตุผลดังนี้ (1) องค์ประกอบของการสอนที่กำหนดไว้นั้นมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อกัน หมายความว่าองค์ประกอบที่ 1 จะสัมพันธ์กับองค์ประกอบที่ 2 – 3- 4 ต่อเนื่องกันไป และองค์ประกอบที่ 1 จะให้แนวทางแก่องค์ประกอบที่ 2 หรือเป็นหลักให้องค์ประกอบที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น จุดประสงค์การสอน (เป็นองค์ประกอบที่ 1) จะสัมพันธ์กับเนื้อหาสาระ (เป็นองค์ประกอบที่ 2) และการจัดเนื้อหาสาระให้ผู้เรียนก็ต้องคำนึงถึงจุดประสงค์การสอนเป็นหลัก หรือยึดจุดประสงค์การสอนเป็นแนวทาง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (องค์ประกอบที่ 3) ก็ต้องจัดให้สอดคล้องสัมพันธ์กับจุดประสงค์การสอนและเนื้อหาสาระ ถ้าขาดจุดประสงค์การสอน การจัดเนื้อหาสาระและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะเป็นไปอย่างเลื่อนลอยไม่มีจุดหมายปลายทาง การเรียนการสอนย่อมไม่บรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น การเรียนการสอนจะบรรลุผลสำเร็จได้องค์ประกอบของการสอนจะอยู่รวมกันอย่างเป็นระบบ มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันและมีความสำคัญต่อกันและกัน (2) การเรียนการสอนมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ระเบียบ ไม่สับสน กระบวนการเรียนการสอนที่เป็นระบบจะประกอบด้วย การวางแผนการสอนซึ่งจัดอยู่ในขั้นตอนการป้อนข้อมูล (Input) การดำเนินการสอนและการวัดผลประเมินผลจัดอยู่ในขั้นดำเนินการ (Process) ส่วนผลการสอน (Output) จะนำมาพิจารณาผลย้อนกลับ (Feedback) ว่าการสอนได้ผลเพียงใด มีจุดใดบกพร่อง กระบวนการทั้งหมดนี้ดำเนินไปตามลำดับขั้นตอนและสามารถตรวจสอบได้ว่ามีจุดบกพร่องที่ใด ดังนั้นเมื่อการจัดการเรียนการสอนมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด งานการสอนยิ่งบรรลุผลสำเร็จดังประสงค์ นั่นคือ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี (3) การจัดระบบการสอนเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของครู ทำให้ครูต้องวางแผนการสอน ต้องดำเนินการสอนตามแผนที่วางไว้ และต้องวัดผลประเมินผลให้สอดคล้องกับ จุดประสงค์ที่กำหนด เป็นการพัฒนาการสอนจากศิลป์ให้เป็นศาสตร์ยิ่งขึ้น (สงัด อุทรานันท์, 2529, หน้า 9) การจัดการเรียนการสอนก็จะมีคุณค่า ปัญหาด้านการสอนที่ไม่มีคุณภาพย่อมหมดไป

4. องค์ประกอบของการสอนเชิงระบบ
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540, หน้า 26) กล่าวว่า จากองค์ประกอบของระบบที่กล่าวมาสามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบการสอนเชิงระบบได้อย่างกว้างๆ 4 องค์ประกอบ ดังนี้
1. ข้อมูลสู่การสอน (Input) ได้แก่ การวางแผนการสอนทั้งด้านจุดประสงค์การสอน เนื้อหาการจัดกิจกรรมการสอนการใช้สื่อการสอนและการวัดผลประเมินผลแล้วเขียนเป็น แผนการสอน
2. กระบวนการสอน (Process) เป็นขั้นดำเนินการสอนตามแผนการสอนที่เขียนไว้นับตั้งแต่ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นการสอน และขั้นสรุป ในขั้นนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะและเทคนิคการสอนของผู้สอนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เมื่อดำเนินการสอนแล้วต้องมีการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย
3. ผลการสอน (Output) เป็นขั้นประเมินผลพฤติกรรมผู้เรียนว่าเกิดผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนแล้ว โดยนำผลการวัดมาประกอบ ถ้าผู้เรียนบรรลุผลตามจุดประสงค์แสดงว่าการจัดการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ
4. ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เป็นขั้นการวิเคราะห์ผลหรือย้อนกลับมาพิจารณาว่าในการจัดการเรียนการสอนนั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง มีปัญหาประการใด โดยพิจารณาจากผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ถ้าผู้เรียนไม่บรรลุผลตามจุดประสงค์ก็จำเป็นต้องพิจารณาหาสาเหตุว่ามีข้อบกพร่องในจุดใดแล้วปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้ระบบการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปใช้ต่อไป








องค์ประกอบของการสอนเชิงระบบทั้ง 4 นี้ จะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันโดยตลอด การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งจะมีผลต่อองค์ประกอบอื่นและมีข้อบกพร่องขององค์ประกอบหนึ่งก็จะส่งผลให้องค์ประกอบอื่นบกพร่องด้วย ดังนั้น การเรียนการสอนจะบรรลุผลสำเร็จหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับทุกองค์ประกอบเกี่ยวข้องกัน แสดงได้ดังภาพ 9


















ภาพ 9 : แสดงองค์ประกอบของการสอนเชิงระบบ
ที่มา : อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540, หน้า 27)


ทิศนา แขมมณี (2545, หน้า 196-199) กล่าวไว้ว่า เนื่องจาก ระบบ มีความสำคัญในการช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ เกิดสัมฤทธิผลตามเป้าหมาย จึงได้เกิดความคิดและนวัตกรรมในด้านนี้ขึ้น เรื่องนี้เรียกกันว่า วิธีการเชิงระบบ หรือ System Approach ซึ่งได้แพร่หลายไปในวงการต่างๆ รวมทั้งวงการศึกษาด้วย วิธีการเชิงระบบ เป็นแนวคิดที่ใช้ในการจัดสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการจำแนกแยกแยะองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งนั้นและการจัดความสำพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านนั้นให้ส่งเสริมกันอย่างเป็นระเบียบโดยที่มองว่า ระบบควรประกอบไปด้วยส่วนสำคัญอย่างน้อย 3 ส่วน คือ
1. ตัวป้อน (Input) คือองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนั้นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนั้น องค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบใดระบบหนึ่งจะมีจำนวนและความสำคัญมากน้อยเพียงใด มักขึ้นอยู่กับความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของผู้จัดระบบ
2. กระบวนการ (Process) หมายถึง การจัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของระบบให้มีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมาย ระบบใดระบบหนึ่งอาจมีองค์ประกอบเหมือนกัน แต่อาจมีลักษณะของการจัดความสัมพันธ์แตกต่างกันได้ แล้วแต่ความคิด ความรู้ และประสบการณ์ของผู้จัดระบบ
3. ผลผลิต (Product) ผลผลิต คือ ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินงาน หากผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แสดงว่า ระบบนั้นมีประสิทธิภาพ หากผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แสดงว่าระบบนั้นยังมีจุดบกพร่อง ควรที่จะพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกระบวนการหรือตัวป้อนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผลนั้น
ส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ ถือว่าเป็นส่วนประกอบเบื้องต้นของระบบ ระบบที่สมบูรณ์ ควรจะมีส่วนสำคัญเพิ่มขึ้นอีก 2 ส่วน คือ
4. กลไกควบคุม (Control) คือ กลไกวิธีการใช้ในการควบคุมหรือตรวจสอบกระบวนการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) หมายถึง ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตกับจุดมุ่งหมายซึ่งจะเป็นข้อมูลป้อนกลับไปสู่การปรับปรุงกระบวนการและตัวป้อน ซึ่งสัมพันธ์กับผลผลิตและเป้าหมายนั้น ระบบที่สมบูรณ์แบบ จึงมีลักษณะดังแสดงในภาพ 10














ภาพ 10 : องค์ประกอบของระบบที่สมบูรณ์
ที่มา : ทิศนา แขมมณี (2545, หน้า 198)

การใช้วิธีเชิงระบบในการจัดระบบของสิ่งต่างๆ จึงหมายถึง การจำแนกองค์ประกอบและการจัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ในกรอบความคิดของตัวป้อน กระบวนการ กลไกควบคุม ผลผลิต และข้อมูลป้อนกลับ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบ
ถึงแม้ว่า วิธีการเชิงระบบ จะเริ่มเข้ามาแพร่หลายเมื่อไม่นานนัก แต่ความจริงเรื่องของ การคิดเป็นระบบ (systematic thinking) มีคู่กับความคิดมนุษย์มาช้านานแล้ว โดยแสดงออกมาในลักษณะของการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับที่จะสามารถช่วยให้งานนั้นบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย หรือแม้แก่การคิดเชิงระบบหรือใช้วิธีการเชิงระบบ (system approach) ในการ จัดระบบให้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในกรอบความคิดของตัวป้อน กระบวนการ กลไกควบคุม ผลผลิต และข้อมูลป้อนกลับนั้น ความจริงมีมานานแล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้แสดงออกเป็นระบบที่เห็นเด่นชัด หรือมีความสมบูรณ์มากนัก
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ความคิดเรื่อง ระบบ นั้นมีลักษณะที่สื่อสารกันอยู่ 2 แนว คือ
1. ระบบในแง่ของ การคิดเป็นระบบ (Systematic Thinking) หมายถึง การกำหนดองค์ประกอบและการจัดองค์ประกอบของระบบให้มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนด ระบบ ในลักษณะนี้ จะมีลักษณะเป็นผังการดำเนินงาน หรือการทำงานใดงานหนึ่งอย่างเป็นลำดับขั้นตอน
2. ระบบในแง่ของ การคิดเชิงระบบ หมายถึง การจัดระบบด้วยวิธีการเชิงระบบ (System Approach) ได้แก่ การจัดองค์ประกอบของระบบในกรอบความคิดของตัวป้อน กระบวนการ กลไกควบคุม ผลผลิต และข้อมูลป้อนกลับ และนำเสนอผังของระบบนั้นในรูปแบบของระบบ ที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วนดังกล่าวข้างต้น